เมื่อถูกยึดทรัพย์ต้องทำอย่าไร
เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้เจ้าหนี้ชนะคดี หากลูกหนี้ไม่ชำระคืนตาม 30 วัน เจ้าหนี้มีสิทธิยึดทรัพย์หรืออายัดสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ได้ โดยให้ศาลตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อออกหมายยึดและอายัดต่อไป
ตามขั้นตอนบังคับคดี โดยปกติเจ้าหนี้จะสืบหาว่าลูกหนี้มีทรัพย์สินใด พอให้ยึดมาขายทอดตลาดชำระหนี้บ้าง โดยเจ้าหนี้มีสิทธิที่จะยึดทรัพย์ทุกอย่างที่เป็นของลูกหนี้ หรือลูกหนี้มีกรรมสิทธิร่วม แต่กฎหมายก็ให้ความคุ้มครองห้ามเจ้าหนี้ยึดทรัพย์บางรายการที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพของลูกหนี้ ได้แก่
1. ทรัพย์สินที่จำเป็นในการดำรงชีวิต มูลค่ารวมกัน 50,000 บาทแรก ห้ามยึด เช่น โต๊ะกินข้าว เก้าอี้ เครื่องครัว เป็นต้น ส่วนทรัพย์สินส่วนตัว เช่น สร้อย แหวน นาฬิกา แม้เป็นทรัพย์สินส่วนตัวของลูกหนี้ แต่เจ้าหนี้ก็มีสิทธิยึดได้เพราะไม่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต
2. ทรัพย์สินที่เป็นเครื่องมือทำมาหากินของลูกหนี้ ถ้ามูลค่ารวมกัน 100,000 บาทแรก ห้ามเจ้าหนี้ยึด เครื่องมือประกอบอาชีพ เช่น คอมพิวเตอร์ เครื่องถ่ายเอกสาร(ถ้าประกอบธุรกิจรับถ่ายเอกสาร) ในกรณีที่เครื่องมือประกอบอาชีพมีราคาสูงกว่า 100,000 บาท และจำเป็นต้องใช้จริง ๆ ก็สามารถขอต่อศาลได้
หากมีเจ้าหนี้หลายราย ทรัพย์ใดถูกยึดไปแล้ว ห้ามเจ้าหนี้รายอื่นมายึดซ้ำ เจ้าหนี้รายใดยึดก่อนก็ได้สิทธิก่อน
ข้อมูลจาก วารสารฉลาดซื้อฉบับที่ 70