"สิทธิหน้าที่ของลูกจ้าง"
กฏหมาย พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานปี 2541 ได้กำหนดเรื่องนี้ไว้ในมาตรา 14 "ให้นายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างให้ถูกต้องตามสิทธิและหน้าที่ที่กำหนดไว้ในประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์แว้นแต่ประราชบัญญัตินี้จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น" กฏหมายฉบับนี้เขียนเชื่อมโยงกับกฏหมายแพ่ง เราก็ต้องพลิกตัวบทประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพที่ 3 ลักษณะที่ 6 ว่าด้วยการจ้างแรงงาน มาตรา 575-578 บัญญัติไว้ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องสิทธิหน้าที่ของท่านไว้พอจะสรุปได้ดังต่อไปนี้ 1. ลูกจ้างต้องทำงานตามคำสั่งนายจ้างและเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฏหมาย ตรงนี้ต้องขอเน้นนะครับคำสั่งของนายจ้างจะต้องเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฏหมายและผู้สั่งจะต้องเป็นนายจ้างและมีอำนาจออกคำสั่งและต้องเป็นคำสั่งที่เกี่ยวกับงานในหน้าที่ ต้องไม่ขัดกฏหมาย ไม่เป็นการพ้นวิสัยที่จะกระทำได้ และไม่ขัดต่อข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง 2. ลูกจ้างจะต้องทำงานด้วยตนเอง อันนี้ชัดเจนไม่ต้องขยายความ 3. ลูกจ้างจะต้องทำงานให้ปรากฏฝีมือตามที่ได้แสดงไว้ เช่น นายจ้างรับลูกจ้างให้ทำงานในตำแหน่งล่ามภาษาอังกฤษ โดยก่อนเริ่มงานได้แสดงสรรพคุณว่าได้เรียนจบ จากเมืองนอกภาษาอังกฤษพูดได้พอ ๆ กับภาษาไทย แต่เมื่อนายจ้างได้ตอบรับเข้าทำงาน เอาเข้าจริง ๆ กับทำไม่ได้อย่างที่ได้โอ้อวดไว้ เช่นนี้ถือว่าด้อยคุณภาพไม่มีสรรพคุณตามที่ได้แจ้งไว้ นายจ้างเลิกจ้างไดนะครับ 4. ลูกจ้างต้อไม่ละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร คำว่า"ละทิ้งหน้าที่ "มีความหมายว่า มีหน้าที่ที่จะต้องทำงานให้นายจ้างแต่กลับไม่ปฏิบัติหน้าที่ เช่น ลากิจ 1 วัน แต่ปรากฏว่าวันรุ่งขึ้นไม่ไปทำงาน และไม่ได้แจ้งเหตุการไม่เข้าทำงานด้วย อย่างนี้ก็เข้าข่ายละทิ้งหน้าที่ หรือว่าพักเที่ยงไปรับประทานอาหารนอกเขตปฏิบัติงานพบเพื่อนเก่าเลยถือโอกาสนั่งดื่มสุรากับเพื่อนจนเลยพักไปถึงบ่าย 3 โมงเย็นจึงกลับเข้าไปทำงาน อย่างนี้ละทิ้งหน้าที่ชัดเจนครัลบ 5. ลูกจ้างต้องไม่กระทำผิดร้ายแรง ความผิดร้ายแรงตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ ม. 199 (4) เช่นลูกจ้างหลังเลิกงานไปแล้วได้เข้าไปลักทรัพย์ของบุคคลอื่น อย่างนี้ก็ถือว่าเป็นการกระทำผิดร้ายแรงได้ 6. ลูกจ้างต้องไม่กระทำการอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนเองให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต อาทิเช่น นำสินค้ามาขายในสถานที่ทำงาน หรือว่าตั้งวงแชร์ในสถานที่ทำงาน เป็นต้น อย่างนี้นายจ้างสามารถเลิกจ้างได้
|