สรุปสาระสำคัญของสมุดปกขาว
สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสภาทนายความ
รายงานการศึกษาและวิเคราะห์เรื่อง การทำธุรกรรมซื้อขายหุ้นและหลักทรัพย์กรณีของบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)ที่มีการแปลความให้ขัดกับหลักการจัดเก็บภาษีที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายความมั่นคงของชาติ
1.นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติต้องรู้ดีว่าสถานที่ซึ่งประกอบไปด้วยสถานีวิทยุหรือโทรเลขหรือสถานีส่งหรือรับอาณัติสัญญาณ กล่าวคือสถานีและผังของสถานีภาคพื้นดินของระบบวงจรดาวเทียมและคลื่นของดาวเทียมนั้นเป็นความลับของชาติ ซึ่งไม่อาจเปิดเผยให้กับตัวแทนของรัฐบาลต่างประเทศ ดังนั้นการที่ครอบครัวของนายกรัฐมนตรีได้ยินยอมให้มีการทำการขายหุ้นและให้ตัวแทนของรัฐบาลต่างประเทศเข้ามาทำการตรวจสอบรายละเอียด (Duc Diligence) ถึงทรัพย์สินหนี้สินของบริษัทในเครือทั้งหมดซึ่งต้องได้รู้ถึงสภาพสถานะของทรัพย์สินเช่นว่านั้น ซึ่งเท่ากับว่ามีการกระทำผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 124 ในการเปิดเผยความลับให้กับหน่วยงานของรัฐบาลต่างประเทศ มีผลทำให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบต้องดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงนี้ให้กระจ่างและดำเนินคดีกับตัวการและผู้สนับสนุนทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการขายหุ้นของบริษัท ชินคอร์ปฯ ในครั้งนี้โดยด่วน
2.จากรายละเอียดที่ทำธุรกรรมเกี่ยวกับการขายหุ้นและเปลี่ยนเป็นหลักทรัพย์ กรณีตามข้อเท็จจริงไม่ว่าจะพิเคราะห์ในตอนซื้อหุ้นของนายพานทองแท้ ชินวัตร และนางสาวพิณทองทา ชินวัตร หรือตอนขายหุ้นนั้นทั้งสองกรณีมีความรับผิดในทางภาษีอากรทั้งสิ้น เพราะถือว่าบริษัท Ample Rich มีภูมิลำเนาเพื่อการเสียภาษีในประเทศไทย เนื่องจากนายพานทองแท้ ชินวัตร และนางสาวพิณทองทา ชินวัตร เป็นกรรมการตัวแทนของบริษัทในประเทศไทย การที่ผู้แทนหน่วยราชการมีหน้าที่จัดเก็บภาษีมาชี้แจงแทนผู้เสียภาษีย่อมถือได้ว่าเป็นกรณีที่ไม่ถูกต้องเพราะควรที่จะตรวจสอบให้มีความแน่ชัดและประเมินภาษีอากรกับผู้ที่ต้องเสียภาษีอากรตามเหตุผลที่ได้ชี้แจงไว้ในสมุดปกขาว
3.การร่วมลงทุนของกลุ่มบริษัทในเครือญาติของนายกรัฐมนตรีในสายการบินแอร์เอเชียนั้นเป็นการร่วมลงทุนกับนิติบุคคลสัญชาติลาบวน ซึ่งเป็นเขตพิเศษที่รัฐบาลมาเลเซียตั้งขึ้นบนเกาะลาบวนที่ตั้งอยู่ระหว่างเกาะบอร์เนียวและเกาะโกตากินาบารูให้เป็นเขตปลอดภาษีอากรในทำนองเดียวกันกับที่นายกรัฐมนตรีได้ไปจดทะเบียนก่อตั้งบริษัท Ample Rich ที่ British Virgins Islands ซึ่งเป็นเขตปลอดภาษีของรัฐบาลอังกฤษ นายกรัฐมนตรีเองได้เคยกล่าวเรื่องนี้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2545 ว่าใครที่ไปจัดตั้งบริษัทบนเกาะ British Virgins Islands จะต้องถือว่าเป็นคนไม่รักชาติ
ในขณะที่นายกรัฐมนตรีทราบดีอยู่แล้วว่าตนเองก็ตั้งบริษัท Ample Rick มาตั้งแต่ปี 2542 และในขณะเดียวกันก็ไปร่วมลงทุนกับบริษัทสายการบินซึ่งมีภูมิลำเนาและสัญชาติอยู่บนเกาะลาบวนทำกิจการปลอดภาษีอีก ความสง่างามของนายกรัฐมนตรีดังกล่าวนี้จึงเป็นพฤติกรรมที่น่าสงสัยอย่างยิ่ง
4.กรณีที่ได้มีการแปรสภาพรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทจำกัด (มหาชน) การออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2546 และกรณีแก้ไขพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2549 ทั้ง 3 กรณีนี้เป็นการลดคุณค่าทางทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจลงอย่างเห็นได้ชัด โดยลดสถานะของความเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีศักดิ์ศรีในด้านของการให้สัมปทานเหนือกว่าบริษัทธรรมดาและต่อมาให้รัฐวิสาหกิจเสียภาษีในทำนองเดียวกับบริษัทผู้รับสัมปทานรวมทั้งการขยายฐานการถือหุ้นของคนต่างด้าวจาก 25% เป็น 49% เป็นการเพิ่มมูลค่าหุ้นให้กับบริษัททั้งสิ้น
นายกรัฐมนตรีในฐานะเป็นหัวหน้าครอบครัวและหัวหน้ารัฐบาลย่อมไม่อาจปฏิเสธได้ว่าได้มีการกำหนดวางแผนซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์โดยทางอ้อมจากการดำรงตำแหน่งสร้างความถดถอยให้กับรัฐวิสาหกิจตามขั้นตอนคือ
1) การแปรสภาพรัฐวิสาหกิจให้เป็นเอกชน
2) การออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพาสามิต พ.ศ.2527 (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2546 และ
3) การออกพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2549 ได้ทำให้ศักดิ์ศรีและความแข็งแกร่งที่เหนือกว่าบริษัทเอกชนในสัญญาสัมปทานของรัฐวิสาหกิจให้เสื่อมคุณค่าลงเป็นลำดับ ซึ่งในทางตรงกันข้ามเป็นการสร้างมูลค่าของหุ้นของบริษัทในเครือของครอบครัวตนให้สูงขึ้น ทำให้สามารถขายได้ในราคาสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 73,000 ล้านบาท
ตามขั้นตอนที่วิเคราะห์ไว้ในสมุดปกขาวฉบับนี้ จึงเห็นได้ชัดว่า กรณีเป็นผลประโยชน์ขัดกันอย่างชัดแจ้งและไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและบทกฎหมายที่เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชั่น สมควรที่หน่วยราชการผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการให้มีการสอบสวนและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป